การออกแบบงานวิศวกรรมลมและแผ่นดินไหว

การออกแบบงานวิศวกรรมลมและแผ่นดินไหว (WIND & SEISMIC ENGINEERING DESIGN หรือ WSE)

k-micropile เสาเข็มไมโครไพล์ เสาเข็มสปันไมโครไพล์ 02-04

หัวข้อในวันนี้จะเกี่ยวข้องกันกับหัวข้อ การออกแบบงานวิศวกรรมลมและแผ่นดินไหว (WIND & SEISMIC ENGINEERING DESIGN หรือ WSE) นะครับ

หลังจากที่เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ความรู้ให้แก่เพื่อนๆ ถึงเรื่อง “อุโมงค์ลม” ไปแล้ว วันนี้ผมจะขออนุญาตมาพูดต่อถึงหัวข้อนี้กันเพิ่มเติมในหัวข้อ “ขนาด” ของอุโมงค์ลมกันอีกสักนิดก็แล้วกันนะครับ

สาเหตุที่ผมนำประเด็นๆ นี้มาพูดเพิ่มเติม เพราะ ว่าประเด็นนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับ “ชนิด” ของการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมนั่นเองนะครับ

ชนิดของการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบหลักๆ คือ
1. การทดสอบแบบเต็ม (FULL SCALE TEST)
2. การทดสอบแบบย่อ และ แบบย่อจะมีขนาดใหญ่ (LARGE DOWN SCALE)
3. การทดสอบแบบย่อ และ แบบย่อจะมีขนาดเล็ก (SMALL DOWN SCALE)

โดยแบบที่ 1 และ แบบที่ 2 เราจะสามารถทำการทดสอบชิ้นงานได้ เท่ากับ หรือ ใกล้เคียง กับขนาดของจริงเลยนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าผลจากการทดสอบก็จะออกมาค่อนข้างแม่นยำและตรงไปตรงมาที่สุด ตัวอย่าง ของการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมแบบนี้ คือ ที่สถาบันวิจัยแลงเลย์ของนาซ่า ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดของอุโมงค์ลมที่นี่จะมีขนาดใหญ่มากพอที่จะสามารถบรรจุเครื่องบินที่มีความกว้างของส่วนปีกจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งมากกว่า 30 เมตร ความยาว 420 เมตร และ ความสูง 54 เมตร ส่วนพัดลมตัวกำเนิดลมที่มี 15 ใบพัดนั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาด 22,500 แรงม้าเลยทีเดียวนะครับ (สามารถที่จะดูรูป ตัวอย่าง ประกอบได้นะครับ)

สำหรับแบบที่ 3 เราจะสามารถทำการทดสอบชิ้นงานได้โดยทำการลดขนาดของชิ้นงานให้เล็กลงมาเมื่อเทียบกับขนาดของจริงนะครับ ตัวอย่าง ของการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมแบบนี้ คือ อุโมงค์ลมที่สร้างขึ้นด้วยเงินลงทุนระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเราจะสามารถทำการศึกษาผลกระทบของลมต่อวัตถุต่างๆ รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ด้วย เช่น สะพาน ตึกสูง อาคารขนาดใหญ่มาก อาคารที่มีรูปร่างหรือรูปทรงแปลกๆ เป็นต้น โดยที่อุโมงค์ลมแห่งนี้จะมีพื้นที่หน้าตัดของห้องทดสอบความกว้าง 3 เมตร และ ความสูง 3 เมตร และแน่นอนว่าอุโมงค์ลมแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นอุโมงค์ลมที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วยนะครับ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาซึ่งรวมไปถึงช่วงสองวันที่ผ่านมาด้วย สาเหตุที่ผมพยายามจะแชร์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของ แรงลม และ อุโมงค์ลม นั่นเป็นเพราะว่า แรงลม ถือเป็นแรงกระทำทางด้านข้าง 1 ใน 2 อย่าง นอกจาก แรงแผ่นดินไหว ที่ถือว่ามีความสำคัญมาก ที่จะกระทำกับอาคารของเรา ซึ่งเพื่อนๆ คงจะประจักษ์ชัดจาก ตัวอย่าง มากมายในอดีตแล้วว่า แรงลม นั้นมีความ ผันผวน และ มีความรุนแรง มากเพียงใด อีกทั้งแรงลมที่มีขนาดใหญ่ๆ (ซึ่งโดยมากแล้วอาจที่จะมีความรุนแรงต่อตัวโครงสร้างในระดับที่ถือได้ว่าน้อยกว่าแรงแผ่นดินไหว) นั้นจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น สูงกว่า แรงแผ่นดินไหวด้วยซ้ำไป ดังนั้นผมจึงอยากที่จะขอย้ำเตือนเพื่อนๆ ทุกๆ คนโดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่เป็นวิศวกรให้ช่วยกันตระหนักถึงความสำคัญของแรงลมนี้ ทั้งทางด้าน การออกแบบ และ การทำงานที่หน้างาน กันให้ดีด้วยนะครับ เพราะ ผมเชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครอยากที่จะให้เกิดการสูญเสียทั้งทางด้าน ชีวิต และ ทรัพย์สิน จึงอยากขอฝากกันเอาไว้ด้วยนะครับผม

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ